นายวัลลพ สงวนนาม

‘กศน.’ เล็งดึงต่างชาติเรียนทางไกล เน้นสอนทักษะอาชีพ

นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้สนใจเข้าเรียน กศน.มากขึ้น เนื่องจากบทบาทหน้าที่ของ กศน.ต้องดูแลจัดการศึกษาให้คนทุกช่วยวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ โดยเข้าไปให้โอกาสกับกลุ่มที่ขาดโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น กลุ่มที่อยู่พื้นที่ห่างไกลกันดาร จัดการศึกษาให้กับคนที่มีข้อจำกัด ทั้งด้านเศรษฐกิจ ที่ไม่สามารถไปเรียนในโรงเรียนขั้นพื้นฐานได้ โดยขณะนี้มีนักศึกษาที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวกว่า 850,000 ราย

รวมถึงทำบันทึกข้อตกลงกับสถานพินิจ เพื่อจัดการศึกษาให้กับเยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจ ในรูปแบบการศึกษาทางไกล เป็นการให้โอกาสกับผู้หลงผิด อีกส่วนคือการศึกษาต่อเนื่อง ได้ไปพัฒนาประชาชนให้มีภูมิคุ้มกัน เช่น ต่อยอดอาชีพ ทำหลักสูตรระยะสั้น ให้ความรู้ เพื่อให้ผู้ที่มาเรียนได้ไปสร้างงานสร้างอาชีพ หาช่องทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ขณะเดียวกัน ยังมีภารกิจการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น จึงต้องดำเนินการให้มีความหลากหลาย ส่งเสริมประชาชนในเรื่องของการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง

นายวัลลพกล่าวต่อว่า ขณะที่ความคืบหน้าการดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. … นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเสนอให้รัฐสภาพิจารณาได้ภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งถ้ากฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ต่อไปเรื่องการจัดและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดทุกช่วงวัยก็จะเป็นภารกิจที่สำคัญของ กศน. ทั้งนี้ เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ฯ จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาได้อย่างไม่มีปัญหา ต่อไป กศน.จะเปลี่ยนเป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งสามารถดูแลการจัดการศึกษาได้กว้างขึ้น

การศึกษาทางไกล

“การประชุม กมธ.ครั้งล่าสุดพิจารณากฎหมายฉบับนี้ถึงมาตราที่ 31 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายแล้ว หากรัฐสภาให้ความเห็นชอบและประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการจะถือเป็นคุณูปการต่อการศึกษาไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ที่สำคัญจะเป็นการปลดล็อกการจัดการศึกษาของ กศน.ที่จะไม่มีการกำหนดเรื่องอายุ เด็กหรือผู้สนใจสามารถเข้าเรียนได้ทุกช่วยวัย และอนาคตสามารถจัดการศึกษาได้สูงกว่าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเบื้องต้นอาจเป็นการจัดการศึกษาภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจะต้องเป็นการจัดการศึกษาเพื่อลดภาระผู้เรียน เช่น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถเรียนอยู่ในพื้นที่ได้ โดยหลักสูตรที่สอนจะต้องสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยที่ผ่านมามีการนำร่องร่วมมือกับวิทยาลัยชุมชนแล้วบางแห่ง หากประสบผลสำเร็จก็อาจขยายผลไปในพื้นที่อื่นต่อไป” นายวัลลพกล่าว

เลขาธิการ กศน.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดจัดการศึกษาทางไกลให้กับนักศึกษาประเทศเพื่อนบ้านผ่านระบบทางไกล โดยจะเป็นหลักสูตรระยะสั้น เสริมทักษะอาชีพต่างๆ หรือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น วิชาภาษาไทย ซึ่งอาจมีกลุ่มคนจากประเทศเพื่อนบ้านสนใจมาเรียน เหมือนที่คนไทยไปเรียนในต่างประเทศ โดยตอนนี้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูข้อกฎหมายว่า กศน.สามารถจัดการศึกษาในรูปแบบดังกล่าวได้หรือไม่ แต่เบื้องต้นคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา ทั้งนี้ การจัดการศึกษาของ กศน.ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อดึงผู้เรียนจากสังกัดอื่น หากเด็กคนใดสามารถเรียนช่องทางปกติได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ กศน.จะถือเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่มีข้อจำกัด เพื่อให้โอกาสทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาให้ได้มากที่สุด

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ marshatrattner.com

Releated